หนังสือแปลเกาหลี

หนังสือแปลเกาหลี “พลังพลิกชีวิตของกิจวัตรยามเย็น”

หนังสือ “พลังพลิกชีวิตของกิจวัตรยามเย็น” แปลมาจากหนังสือภาษาเกาหลีชื่อว่า “아침이 달라지는 저녁 루틴의 힘” เขียนโดย คุณรยูฮันบิน ยูทูบเบอร์ด้านการจัดการเวลาชาวเกาหลี ที่มียอดวิวมากกว่า 3 ล้านวิว แปลเป็นภาษาไทยโดย คุณอาสยา อภิชนางกูร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู

คลิกดูคลิปวีดีโอสรุปหนังสือ “พลังพลิกชีวิตของกิจวัตรยามเย็น” ได้ที่นี่

คำศัพท์ภาษาเกาหลีน่ารู้

  • 이침 – ตอนเช้า
  • 달라지다 – เปลี่ยนแปลง
  • 저녁 – ตอนเย็น
  • 힘 –  แรง, กำลัง

ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้แนะนำให้ใช้ Action Planner เป็นบันไดสู่เป้าหมาย เพราะเวลาที่เป้าหมายจะรู้สึกว่าอยู่ไกล อาจจะทำให้ท้อได้ แต่ถ้าเราจดจ่อกับ Action Plan ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำทันทีและแก้ไขปัญหาไปทีละอย่าง เราก็จะพบว่าเรากำลังเข้าใกล้เป้าหมายไปเรื่อย ๆ

เทคนิคการจัดการเวลาเพื่อสร้างกิจวัตรยามเย็น

1. ค้นหาชิ้นส่วนของเวลาที่กระจัดกระจาย ถ้าเรารู้สึกว่าแค่เลิกงานกลับมาบ้าน อาบน้ำ กินข้าวก็หมดวันแล้ว นั่นเป็นเพราะเราปล่อยเวลาไหลไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราใช้เวลาอย่างใส่ใจเราจะรู้สึกว่าเวลาหลังเลิกงานนานขึ้น ดังนั้นถ้าเราใส่ใจเวลา 24 ชั่วโมงจนเป็นนิสัย เวลาในหนึ่งวันของเราก็จะนานขึ้นเป็นสองเท่า นอกจากนี้ถ้าเราใช้เวลาไปกับเรื่องที่ไม่สำคัญก็จะทำให้เวลาที่ใช้ไปงานที่มีคุณค่าก็จะน้อยลง ดังนั้นเคล็ดลับก็คือทุกครึ่งชั่วโมงให้ทบทวนดูว่าเราใช้เวลาก่อนหน้านี้ไปอย่างไร แล้วจะเห็นได้ชัดว่าเรากำลังใช้เวลาแบบไหน

2. ใส่ใจและจัดการกับเวลา ในชีวิตประจำวันของคนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่บางคนก็พูดว่ายุ่งตลอดทั้ง ๆ ที่ไม่มีงานอะไรเป็นพิเศษ ในขณะที่บางคนไม่เคยพลาดโอกาสใหม่ ๆ ที่เข้ามาในขณะที่ทำงานสำเร็จไปแล้วมากมาย ซึ่งการเขียน Daily Planner ก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการจัดการเวลา พอเราใส่ใจและตรวจสอบเวลา ก็จะรู้ว่าช่องโหว่อยู่ตรงไหน แล้วก็มองเห็นว่าจะต้องอุดรูรั่วอย่างไร

ขั้นตอนการวางแผนการใช้เวลาตอนเย็น

ขั้นตอนที่ 1 บันทึกเวลาว่างทั้งหมดที่มีในหนึ่งวัน จากนั้นบันทึกเวลาที่แบ่งไว้สำหรับสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำไว้ทั้งหมด เวลาที่เหลือหลังจากหักลบจากกิจวัตรเหล่านี้ก็คือเวลาว่างอย่างแท้จริง

ขั้นตอนที่ 2 ประเมินสิ่งที่อยากทำ เวลาที่ใช้ และระดับการจดจ่อ ลองคิดถึงสิ่งที่อยากทำแล้วคาดการณ์เวลากับระดับสมาธิที่ต้องใช้ถ้าอยากทำอะไรสม่ำเสมอ เช่น ทำทุกวันหรือทำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ให้กำหนดว่าจะใช้เวลาวันละกี่ชั่วโมง

ขั้นตอนที่ 3 ทำตารางกิจวัตรยามเย็น ลองเขียนตารางกิจวัตรยามเย็นประจำสัปดาห์ โดยอาจจะแบ่งช่อง ๆ เหมือนตารางเรียนก็ได้ พอได้เค้าโครงกิจวัตรแล้วก็ให้นำไปปฏิบัติจริงและปรับแก้ให้สมบูรณ์ จุดประสงค์ของการวางแผนและการกำหนดสิ่งที่ต้องทำในแต่ละช่วงเวลาไม่ใช่เพื่อกดดันตัวเอง แต่เพื่อความสะดวก เพราะถ้าจู่ ๆ เกิดมีเวลาว่าง เราอาจจะไม่รู้ว่าต้องทำอะไร แล้วก็จะปล่อยให้เวลาสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

เทคนิคการจัดการพลังกายเพื่อชีวิตยามเย็นที่คุ้มค่า

1. การออกกำลังกาย ถ้าต้องการเพิ่มพลังกายก็ต้องออกกำลังกาย หารูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเอง

2. อดทนให้ได้อย่างน้อย 2 เดือน เวลาเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ย่อมต้องใช้พลังอย่างมาก ถ้าอดทนทำจนผ่านไปได้ 2 เดือน ก็จะมีพลังกายเพิ่มขึ้นมากพอที่จะรักษากิจวัตรนั้นไว้ได้

3. ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน กินอาหารที่ย่อยง่ายในปริมาณที่เหมาะสม พลังชีวิตจึงจะสูงขึ้น ควรเลี่ยงการกินมื้อดึกเพราะทำให้คุณภาพการนอนลดลง ส่งผลให้สภาพร่างกายในวันถัดไปแย่ลงด้วย แล้วก็กินผักสด ผลไม้ และดื่มน้ำเยอะ ๆ

4. เดินเล่นรับแสงแดด นาฬิกาชีวิตของร่างกายเราจะรับรู้ว่า ถ้าสว่างคือตอนเช้า ถ้ามืดคือตอนเย็น แต่เมื่อถูกกระตุ้นจากแสงสีฟ้าของคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน สมองก็จะเกิดความสับสน แบ่งแยกกลางวันกลางคืนได้ไม่ชัดเจนทำให้เรานอนหลับได้ไม่เต็มอิ่ม ดังนั้นเราควรเปิดม่านและใช้ชีวิตท่ามกลางแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน หาเวลาออกไปรับแสงแดดข้างนอกบ้าง และลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในตอนกลางคืน

5. ทำสมาธิ การฝึกสมาธิจะทำให้เราหยุดความคิดที่วุ่นวายสับสน จดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะ รู้เท่าทันความคิดของตนเอง การทำสมาธิจึงเหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มักจะถูกรบกวนจากความคิดวุ่นวายทั้งหลาย

ในหนังสือเรื่อง พลังพลิกชีวิตของกิจวัตรยามเย็น เล่มนี้ คุณรยูฮันบิน ผู้เขียน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเวลา นอกจากจะชวนให้เราใช้เวลาตอนเย็นอย่างคุ้มค่าแล้ว ก็ยังได้แนะนำเคล็ดลับวิธีการบริหารเวลา การใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ การกำหนดเป้าหมาย และยังแนะนำเครื่องมือในการวางแผนการทำงานอีกมากมาย

คลิกดูคลิปวีดีโอสรุปหนังสือ “พลังพลิกชีวิตของกิจวัตรยามเย็น” ได้ที่นี่

ต้องการอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ คลิกที่นี่ค่ะ

ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือและการเรียนภาษาเกาหลีนะคะ ^^